Please enable JavaScript!
Bitte aktiviere JavaScript!
S'il vous plaît activer JavaScript!
Por favor,activa el JavaScript!
antiblock.org

Your Language

Thai Thai

13 ครั้งกับการรัฐประหารของประเทศไทย

5   คณะรัฐประหารของไทย ที่ก่อการสำเร็จ มักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิรูป" หรือ "คณะปฏิวัติ" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" (revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงครั้งเดียว  
 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ความเห็นอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีการใช้กำลังทหาร ในการควบคุมบังคับ เพื่อระงับอำนาจของรัฐบาล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
   ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายกองทัพบก ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว ในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วหลังจากนั้น ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป

6
   ในกรณีประเทศไทย เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จคณะรัฐประหารในไทยมักจะใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงนามประกาศใช้ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign the Royal Command) มีการออกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีการรับรองความสมบูรณ์สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหรือประกาศ และรวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกด้วย


รายชื่อรัฐประหารในประเทศไทย

1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง

7

คนไทยได้อะไรจากการรัฐประหาร?
1. การลงทุนที่หายไปเกือบหมด 
2. การส่งออกที่ลดลง 
3. นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีฐานะดีไม่เดินทางเข้ามา การท่องเที่ยวนับเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดียวที่ไทยยังหวังพึ่งได้
4. ศักยภาพในความสามารถแข่งขันของประเทศลดลง
5. เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก สาเหตุหลักก็คงมาจากการลงทุนและการส่งออกที่ลดลงตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร
 
ทั้งนี้เป็นผลพวงของรัฐประหารครั้งล่าสุดที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่ง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ได้กล่าวเอาไว้ผ่านมติชนออนไลน์ วันที่ 12 ธันวาคม 2559 ว่า
   กว่า 2 ปีแล้ว ที่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงแม้จะมีการอ้างเหตุผลความจำเป็นหลายอย่างในการทำรัฐประหาร แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปในโลกปัจจุบันที่มีความขัดแย้งและความไม่พอใจต่อผู้นำในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านเราเอง หรือแม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่มีคนออกมาประท้วงจำนวนมาก แต่ที่สุดแล้วประเทศเหล่านั้นก็หาข้อยุติทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถึงแม้จะส่งผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้
หันกลับมามองประเทศไทย ซึ่งหากมองย้อนหลังไปในอดีต การทำรัฐประหารหลายครั้งในอดีตตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก แต่ถ้ามองการทำรัฐประหารในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำรัฐประหารในปี 2557 จะพบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นานาชาติต่างกำหนดกติกาให้ประเทศต่างๆ ยอมรับ เพื่อให้เข้ากับหลักสากล และจะมองที่การพัฒนาของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก หากประเทศใดที่มีการพัฒนาทางการเมืองย้อนหลัง ก็ยากที่จะเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ผลกระทบต่างๆ จึงมีค่อนข้างมาก

การเขียนบทความนี้ก็เพื่อที่จะเป็นการให้ข้อมูลในการพิจารณาและเพื่อหาทางแก้ไขให้กับประเทศ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ร้ายหรือกล่าวโทษใคร แต่เป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงและพิสูจน์ได้ เพื่อเป็นบทเรียนในอนาคตว่าหากจะมีการทำรัฐประหารกันอีก (ถึงแม้ทุกครั้งจะบอกว่าเป็นครั้งสุดท้าย) ก็หวังว่าทุกฝ่ายจะหันมาพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชาคมโลกยิ่งพัฒนาขึ้นไปในอนาคต

หากจำกันได้ ผู้เขียนได้พยายามเตือนมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล และการชัตดาวน์กรุงเทพฯแล้วว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมากและจะนำไปสู่การปฏิวัติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่จะหายไปและคงไม่สามารถที่จะฟื้นกลับคืนมาง่ายๆ แต่ในขณะนั้นก็มีนักวิชาการและผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายท่านที่กลับเห็นว่าเป็นแค่เรื่องชั่วคราวและไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

แต่ปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าผลกระทบความเสียหายต่อเศรษฐกิจมีอย่างมหาศาล โดยจะขอให้ข้อมูลและการอธิบายดังนี้

1.การลงทุนที่หายไปเกือบหมด ในภาวะปกติ การลงทุนภาคเอกชนของนักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยจะมีประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท แต่หลังจากการทำรัฐประหารการลงทุนภาคเอกชนเหล่านี้ได้หายไปเกือบหมด โดยปี 2558 การลงทุนจากต่างประเทศเหลือเพียงแสนกว่าล้านบาท หรือเหลือเพียง 10% เท่านั้น และในครึ่งปีแรกของปี 2559 การลงทุนจากต่างประเทศเหลือเพียงหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาทเท่านั้น หรือหายไปเกือบ 100% ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และในครึ่งปีหลังของปีนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

ความเสียหายในส่วนนี้เป็นความเสียหายที่รุนแรงมากเพราะทำให้ประเทศไทยพัฒนาล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูงหนีไปลงทุนในประเทศอื่นหมด โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หันไปลงทุนในประเทศเวียดนามกันหมด จนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามได้แซงหน้าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปแล้ว

จากประวัติศาสตร์ในอดีต การที่ประเทศไทยไม่เป็นคอมมิวนิสต์ในขณะเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์กันหมด ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหันมาลงทุนที่ไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยพัฒนาและก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก แต่ในปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศกลับหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหมด แม้แต่นักลงทุนไทยยังไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนในประเทศไทย โดยครึ่งปีแรกของปีนี้มีนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศถึงกว่าสามแสนล้านบาท ซึ่งหากยังไม่สามารถฟื้นฟูความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลงทุนได้ ประเทศไทยจะเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างมาก และจะมีผลถึงการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก

แค่เดือนตุลาคมเดือนเดียวมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 120,000 คน และแนวโน้มการว่างงานจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่จะหางานทำได้ยากมาก นอกจากนี้การจะฟื้นฟูให้นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจและกลับมาลงทุนใหม่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ทั้งนี้นักลงทุนต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีก และการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นเร็วที่สุด

2.การส่งออกที่ลดลง หลังจากมีการทำรัฐประหาร การส่งออกที่แท้จริงได้ลดลงตลอด 19 เดือนที่ผ่านมา และมาเป็นบวกได้ 2 เดือน แต่พอมาเดือนตุลาคมการส่งออกก็ติดลบหนักอีกที่ลบ 4.2% ซึ่งทำให้การส่งออกทั้งปี 2559 นี้น่าจะติดลบต่อ ซึ่งจะเป็นการส่งออกที่ติดลบ 4 ปีติดต่อกัน และเพราะติดลบมาตลอดหลายปี การส่งออกในปีนี้จะต่ำสุดในรอบ 6 ปีเลย จริงอยู่ที่การส่งออกติดลบมาก่อนที่จะมีการปฏิวัติแล้ว ทั้งนี้ เพราะสินค้าที่ไทยผลิตได้หลายชนิดเริ่มหมดความนิยมในตลาดโลก และสินค้าบางอย่างก็แข่งขันไม่ได้แล้วในด้านต้นทุน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยนัก แต่การรัฐประหารยิ่งส่งผลกระทบทำให้การส่งออกที่แย่อยู่แล้วกลับแย่ยิ่งกว่าเดิม เพราะประเทศไทยไม่สามารถเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศในอียู ทำให้การส่งออกยิ่งทรุดหนัก

ทั้งนี้ ทางออกของประเทศไทยคือจะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อมาทดแทนและสนับสนุนให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต้องมั่นใจว่าไทยจะต้องเร่งกลับสู่ระบอบการปกครองที่นานาชาติยอมรับเพื่อการเจรจาการค้าจะได้ดำเนินการได้ และจะต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด การส่งออกที่ลดลงทำให้การใช้เครื่องจักรต่ำกว่าประสิทธิภาพมาก และการจ้างคนงานทำงานล่วงเวลาก็ลดลง รายได้จากโอทีของผู้ใช้แรงงานก็ลดลงไปด้วย แถมหลายบริษัทถึงกับต้องปิดกิจการไปทำให้มีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาก

3.นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีฐานะดีไม่เดินทางเข้ามา การท่องเที่ยวนับเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดียวที่ไทยยังหวังพึ่งได้ นอกจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จ่ายกันจนหมดกระเป๋าแล้วแต่เศรษฐกิจก็ยังไม่กระเตื้อง การที่รัฐบาลดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับทัวร์ศูนย์เหรียญทำให้นักท่องเที่ยวหายไปมาก การที่รัฐบาลพยายามจำกัดทัวร์ศูนย์เหรียญโดยหวังว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้สูงมีการจับจ่ายใช้สอยสูงเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น รัฐบาลอาจจะลืมไปว่านักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้สูงจำนวนมากจะไม่ไปท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และยิ่งประเทศไทยมีข่าวทางด้านลบในการจับคน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง นักท่องเที่ยวประเภทนี้จะไม่มาท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ที่ชอบจัดสัมมนาในประเทศต่างๆ รวมถึงการจัดประชุมนานาชาติขนาดใหญ่ที่เคยจัดในไทย จนประเทศไทยเคยต้องเร่งสร้างศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ ก็ไม่มาจัดในไทยแล้วเพราะสาเหตุเดียวกันนี้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวคุณภาพเหล่านี้อย่างมาก

4.ความสามารถแข่งขันของประเทศลดลง หลังจากการทำรัฐประหาร ความสามารถแข่งขันของไทยที่จัดอันดับโดย World Economic Forum (WEF) ได้ลดต่ำลง 2 ปีซ้อน และหากได้เข้าไปดูในสาเหตุหลักในรายงานประจำปี WEF ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผลมาจากความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการรัฐประหาร

5.เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ระบุชัดเจนว่า การเจริญเติบโตของไทยต่ำกว่าศักยภาพมาก และเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ทั้งนี้ รมว.คลังก็ออกมายอมรับเองว่าประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาก สาเหตุหลักก็คงมาจากการลงทุนและการส่งออกที่ลดลงตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร

ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยควรจะต้องมีการขยายตัวอย่างต่ำที่ 5% เพื่อให้สามารถหารายได้มาจ่ายหนี้สาธารณะของประเทศและรักษาระดับการจ้างงาน

6.การสูญเสียโอกาสการเป็นผู้นำของอาเซียน ความสามารถแข่งขันในด้านต่างๆ ของไทยอาจจะแข็งขันกับประเทศอื่นได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น โอกาสของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง คือการใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย ที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน ประกอบกับการพัฒนาของประเทศไทยที่ก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการจะเป็นศูนยกลางและเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้ ประเทศไทยจะต้องเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ไม่ใช่ประเทศไทยจะเป็นได้เอง การจะเป็นผู้นำและศูนย์กลางของอาเซียนได้นั้นไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน รวมถึงการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากสาเหตุของการรัฐประหาร นักลงทุนต่างประเทศต่างก็ย้ายหนีไปลงทุนประเทศอื่นกันหมด โอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็หดหายไปเรื่อยๆ

และถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทยมากมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นทันประเทศไทย หรือพัฒนามากกว่าประเทศไทย โอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำและศูนย์กลางของอาเซียนก็จะหายไป ซึ่งหมายถึงโอกาสของไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงก็จะหายไปด้วย ซึ่งการเสียโอกาสนี้จะทำความเสียหายให้กับประชาชนไทยทั้งประเทศอย่างมาก

ด้วยผลกระทบดังกล่าวจึงทำให้รายได้ของประชาชนทั้งประเทศลดลงอย่างมากไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย เกษตกร ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ หรือคนชั้นกลางก็ทำมาหากินกันอย่างฝืดเคือง ทั้งนี้รวมถึงเศรษฐี มหาเศรษฐีที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับกำลังซื้อของคนจำนวนมาก ก็ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ได้ลดลงอย่างมาก

ดังนั้นการเร่งเข้าสู่ระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติโดยเร็วที่สุด จึงเป็นความจำเป็นไม่ใช่ทางเลือก และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมาจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกได้ ผู้เขียนเชื่อว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับบทเรียนหลายอย่างที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาอย่างมากจนถึงปัจจุบันนี้ หากจะคิดเหมือนเดิม ทำแบบเดิม โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คงเป็นไปไม่ได้

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกฝ่ายจะต้องเปลี่ยนความคิด หันมาคิดใหม่ทำใหม่ ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นไป เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทยและการปรับเปลี่ยนของโลก

พิชัย นริพทะพันธุ์
อดีต รมว.พลังงาน

ขอบคุณ: มติชนออนไลน์