
โดยให้ดําเนินการตามความเห็นของสํานักงบประมาณ ซึ่งตามหนังสือสํานักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0707/085 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 สรุปสาระสําคัญ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ดําเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ ในส่วนที่จําเป็นเร่งด่วน เพื่อทดแทนอาคารสถานีตํารวจที่มีสภาพชํารุดทรุดโทรมมากกว่า 30 ปีขึ้นไป จํานวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จัดลําดับความสําคัญของรายการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กระจายไปยังพื้นที่จะได้รวดเร็วใช้การได้ ซึ่งกองพลาธิการและสรรพาวุธ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ 0009.24/1995 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552 เสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน)
ในเบื้องต้น มีการเสนอเป็น 4 แนวทาง
1.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง
2.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1- 9) และทําสัญญา 9 สัญญา
3.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค
4.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรจังหวัด
1.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง
2.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1- 9) และทําสัญญา 9 สัญญา
3.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค
4.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรจังหวัด
ซึ่งต่อมามีการเคาะให้เป็นจัดจ้างโดยส่วนกลาง ให้จัดจ้างที่ส่วนกลาง โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติ แบบรวมการครั้งเดียว โดยทําสัญญาเดียว 396 หลัง อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง โปรเจ็กต์สำคัญของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าการก่อสร้างดำเนินการได้ล่าช้า และไม่สำเร็จลุล่วง ทำให้สำนักงานตรวจแห่งชาติ (สตช.) เกิดความเสียหาย
อภิปรายไม่ไว้วางใจ คือจุดเริ่มต้น
เรื่องดังกล่าวกลายมาเป็นกระแสขึ้นในปี 2555 ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สตช.
โดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย ได้เปิดอภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ โดยเปิดโปงโครงการ 396 โรงพักที่สร้างแล้วทิ้งร้าง โดยนำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย
“เพราะเห็นแต่โรงพักที่สร้างทิ้งร้าง มีแค่เสาปูนโด่เด่ พร้อมกับมีเถาวัลย์ไม้เลื้อยพัน บางแห่งก็เห็นผนังก่ออิฐแต่ทิ้งเอาไว้เปลือย ๆ”


ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมได้รับไปตรวจสอบ แต่การเปิดเกมดังกล่าว กลายเป็นการยื่นดาบให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในคดีโรงพัก 396 แห่ง ในยุคพรรคประชาธิปัตย์นายสุเทพตกเป็นจำเลยสำคัญในคดีนี้ทันที มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ทันที และต่อมาได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
เรื่องมาถึงปี 2560 นายสุเทพได้ทำหนังสือถึงนายวัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอให้ปลดนายวิชาออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน เนื่องจากว่านายวิชามี “อคติ” กับตน
เพราะในอดีต นายวิชาเคยไม่พอใจตนเรื่องมติ ก.ตร. ต่อกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ไม่สอดคล้องกับมติ ป.ป.ช. ซึ่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 โดยนายวิชาเข้าใจว่าตนมีส่วนสำคัญในมติดังกล่าว ในฐานะประธาน ก.ตร.ขณะนั้น จึงเกรงว่านายวิชายังอาจมี “อคติ” ต่อตนอยู่ จึงขอเรียกร้อง 2 ประการ ดังนี้
ขอเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีที่อ้างถึง เป็นอนุกรรมการชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
ขอโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในคดีโดยวาจาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เต็มคณะ ก่อนที่จะมีมติชี้มูลความผิดหรือไม่
“สุเทพ” ปิดท้ายหนังสือว่า “เพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการไต่สวนคดีนี้ ขอได้โปรดอนุญาตด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”
หลังนายสุเทพขอความเป็นธรรมให้เปลี่ยนชุดคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน


ป.ป.ช. ชี้ว่าผิด แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง
6 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช.มีการแถลงข่าวว่า ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดนายสุเทพ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้
1.การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา
2.1) การกระทำของพลตำรวจตรีสัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.2) การกระทำของพันตำรวจเอกจิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอกสุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอกพิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอกณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอกณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)
3.บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
4.สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโทสุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป


ให้ส่งเรื่องรายงานเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น
ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการสูงสุดรับสำนวนจาก ป.ป.ช.มาพิจารณา ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการ เพื่อพิจารณาประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ กระทั่งต่อมาอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง
(มติชน) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดส่งตัวจำเลย ในคดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,728 ล้านบาท ต่อศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยจำเลยในคดีนี้ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องมาตรา 157 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จำเลยที่ 2 มาตรา 157 พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3 และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4 โดนความผิดฐานฮั้วประมูลและมาตรา 157 ส่วนบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5 และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6 ถูกฟ้องข้อหาข้อหาสนับสนุนฯ


คดีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ยื่นฟ้องด้วยตัวเอง ที่ประชุมร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.เมื่อเดือนมิถุนายน2564 มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงดึงเรื่องกลับมาเพื่อทำสำนวนฟ้องเอง
โดยระบุถึงความผิดของจำเลยทั้งหมด สรุปว่า การกระทำของนายสุเทพที่ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อาญา มาตรา 157 เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ปทีป รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น และยังมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79(1) (5) และ (6)
ภายหลังเข้าแสดงตัวต่อศาล นายสุเทพยังคงยืนยันถึงความบริสุทธิ์ สั่งการลงนามจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวทำตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ทั้งนี้ ป.ป.ช.นำเอกสารมายื่นฟ้องทั้งหมด 1,302 หน้า ซึ่งทั้งหมดเคยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.และอัยการครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีประเด็นที่แปลกไปกว่าเดิม และจะนำความเห็นของอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง และไม่รับคดีมาโต้แย้ง ซึ่งเตรียมพยานเอกสารไว้ทั้งหมด 200 หน้า ทั้งนี้ หากชนะคดีจะฟ้องกลับหรือไม่ ตอนนี้ขอสู้คดีก่อน เพราะถูกกล่าวหามา 10 ปีแล้ว ทำให้เสียชื่อเสียงมาก
ขณะที่ศาลมีคำสั่งนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 และให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
สําหรับคดีดังกล่าวเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2554 ในสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุเทพเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ทำคดี ระบุคำร้องต่อ ป.ป.ช.ว่า นายอภิสิทธิ์กับพวกอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) จำนวนหลายสัญญา
เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ
เมื่อคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
ผ่านมา 4 ปี ป.ป.ช.มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 เปลี่ยนรูปแบบการไต่สวนจากการตั้งอนุกรรมการไต่สวน มาให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร์ และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน
ใช้เวลาอีก 2 ปีกว่า จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กรรมการ ป.ป.ช. 8 คนมีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพและคณะ โดย น.ส.สุภาที่เคยเป็นเจ้าของสำนวนถอนตัวจากการรับผิดชอบสำนวนและการพิจารณาลงมติชี้มูล
มีความเห็นว่า นายสุเทพ พล.ต.อ.ปทีป และพวกรวม 6 คนมีความผิด
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ทั้งนี้ มติ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
สุดท้ายเมื่ออัยการไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จึงยื่นฟ้องเอง
เปิดสำนวน-เปลี่ยนสัญญาจ้าง
ทั้งนี้ จากรายการการไต่สวนข้อเท็จจริง สรุปว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้าง เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชนที่มาใช้บริการ
ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างไม่เกิดปัญหา
จึงเสนออนุมัติต่อ ครม.ให้ดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่เสนอไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดจ้างตามแนวทางที่คณะทำงานดังกล่าวเสนอ ผ่านนายสุเทพซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพพิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552
ซึ่ง ครม.ในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติหลักการตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักงบประมาณเห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการก่อสร้างตามความจำเป็นเร่งด่วน และตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีงบประมาณ (2552-2554)


แต่ต่อมากลับมีการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากเดิมที่ให้ประมูลเป็นรายภาค กลายเป็นรวมประมูลรายเดียวทั่วประเทศ ส่งผลให้การก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีกจำนวนหลายครั้ง
แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,728,629,606 บาท
ไม่เพียงแค่นั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพกับพวก ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) 163 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย 3,994 ล้านบาท โดยมีมติว่าการกระทำของนายสุเทพเป็นกรรมเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสัญญาจัดจ้าง และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา แต่สุดท้ายอัยการสูงสุดก็มีมติไม่สั่งฟ้อง
ป.ป.ช.จึงยื่นฟ้องเองในส่วนของทุจริตแฟลตตำรวจไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564
ที่เหลือก็อยู่ที่กระบวนการศาลจะพิจารณา ซึ่งต้องว่าด้วยเรื่องการต่อสู้ทางคดีหรือข้อกฎหมาย
แต่ที่แน่ๆ เห็นชัดๆ คือการก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ ไม่แล้วเสร็จ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายถึงกว่า 5 พันล้านบาท
สำหรับกระบวนการในชั้นศาลนั้น เริ่มเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาครั้งแรก และได้อ่านอธิบายคำฟ้อง พร้อมสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธข้อต่อสู้คดี ศาลจึงได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ 3 นัด
ครั้งแรก วันที่ 2, 30 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 และนัดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 19, 21, 26 กรกฎาคม 2565
กระทั่ง 20 กันยายน ศาลจึงได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหา “นายสุเทพ” เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด และไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พร้อมยกฟ้องจำเลยคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ขอบคุณ: ประชาชาติธุรกิจ, และมติชนมุดสัปดาห์